ข้าวเหนียวเขี้ยวงู 8974 (KHAO NIEW KHIAW NGOO 8974)
คนไทยบริโภคข้าวเหนียวใน 2 ลักษณะ คือเป็นอาหารคาว ซึ่งมีข้าวเหนียวหลากหลายพันธุ์ อีกลักษณะหนึ่ง คือในรูปของหวาน เช่น ข้าวเหนียวมูน เป็นต้น ข้าวเหนียวที่ทำข้าวเหนียวมูนได้อร่อยที่สุด คือ ข้าวเหนียวเขี้ยวงู และแหล่งปลูกข้าวเหนียวเขี้ยวงูที่มีคุณภาพทำข้าวเหนียวมูน หรือของหวานอื่นๆ ที่อร่อยที่สุดของประเทศ คือจากจังหวัดเชียงราย เนื่องจากชาวนามีการปลูกมาอย่างยาวนาน มีพันธุ์ข้าวที่เป็นพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิมโดยเฉพาะ แต่หลังจากที่ราชการได้มีการรับรองพันธุ์ข้าวใหม่ๆ ทำให้ชาวนาหันไปปลูกข้าวพันธุ์ใหม่ที่มีตลาด และให้ผลผลิตมากกว่าข้าวเหนียวเขี้ยวงูมากขึ้น ข้าวเหนียวเขี้ยวงูจึงหายไปจากท้องนาที่เป็นแหล่งปลูกเดิม
สายพันธุ์ข้าวเหนียวเขี้ยวงู 8974 เป็นหนึ่งใน 28 สายพันธุ์ข้าวเหนียวเขี้ยวงู ที่นักวิชาการข้าว ของศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย นำมาจากศูนย์ปฏิบัติการและเก็บเมล็ดเชื้อพันธุ์ ข้าวแห่งชาติ (Germplasm Bank)โดยปลูกทดสอบ วิจัย และคัดเลือก พบว่าสายพันธุ์ข้าวเหนียวเขี้ยวงู ที่มีหมายเลข 8974 กำกับ มีลักษณะตรงตามสายพันธุ์ ข้าวเหนียวเขี้ยวงู ให้ผลผลิตสูงกว่าสายพันธุ์ข้าวเหนียวเขี้ยวงูอื่น จากนั้นจึงให้ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรแปรรูปข้าวปลอดภัยแบบยั่งยืนแม่จัน ปลูกทดสอบในพื้นที่ดั้งเดิมของ สายพันธุ์ ข้าวเหนียวเขี้ยวงู คือ ที่ราบแม่จัน หรือเดิมเรียกว่าที่ราบเชียงแสน เนื่องจากพื้นที่นี้เดิมมีปกครองแบบแขวงชื่อ แขวงเชียงแสนหลวง จนถึงปี พ.ศ. 2482 ปัจจุบันพื้นที่ได้ถูกจัดแบ่งเป็นหลายอำเภอ คือ แม่จัน เชียงแสน แม่สาย แม่ฟ้าหลวง ดอยหลวง
การปลูกข้าวเหนียวเขี้ยวงู 8974 มีการปลูกครอบคลุมในอำเภอ แม่จัน เชียงแสน แม่สาย และมีการเพาะปลูกที่อำเภอพานเพื่อเก็บข้อมูลเปรียบเทียบ โดยมีเป้าหมายจะขยายพื้นที่การเพาะปลูกให้ครบทุกอำเภอของจังหวัดเชียงราย
จากผลการวิเคราะห์
ข้าวเหนียวเขี้ยวงู 8974 มีความเด่นเป็นพิเศษคือ เป็นข้าวเหนียวที่มีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidants) ในรูปของวิตามินอี โดยวิตามินอี ที่พบในข้าวเหนียวเขี้ยวงู 8974 เป็นวิตามินอี เพียงโครงสร้างเดียวที่มีประสิทธิภาพทางชีวเคมีมากที่สุด มีบทบาทสำคัญในขบวนการ การเผาผลาญอาหาร (metabolism) ในร่างกายโดยเฉพาะเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลด คอเลสเตอรอล สูงถึง 5.32 มิลลิกรัมต่อรำ 100 กรัม
หมายเหตุ วิตามินอี มีความจำเป็นต่อร่างกาย ควรได้รับ 7 -15 มิลลิกรัม ต่อวัน ข้าวเหนียวเขี้ยวงู 8974 จึงนับเป็นแหล่งวิตามินอีที่สำคัญ
นอกจากนี้ยังมีสารแกมมา (g–oryzanol) ซึ่งเป็นสารช่วยลดการเกิดปฏิกิริยา oxidation ซึ่งเป็นผลผลิตจาก คอเลสเตอรอล ที่อาจก่อให้เกิดสารประกอบที่ทำให้เป็นอันตรายต่อเซลต่างๆในหลอดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเส้นเลือดอุดตันในหัวใจ โรคที่เกี่ยวกับปอดและโรคมะเร็ง รวมทั้งอาการผิดปกติของวัยทอง มีปริมาณ 188.2 มิลลิกรัมต่อรำ 100 กรัม (เมล็ดข้าวอายุ 4 เดือน วิเคราะห์ข้อมูลโดยบริษัทห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด)
องค์ประกอบทางเคมีและคุณค่าทางโภชนาการในข้าวกล้อง 100 กรัม มีใยอาหาร (Total dietary fiber) ไขมัน และโปรตีน 3.74 2.68 และ 7.52 กรัม สูงกว่าพันธุ์ กข6 ร้อยละ 10.6 10.7 และ 0.4 ตามลำดับ มีพลังงาน 258.56 กิโลแคลอรี และคาร์โบไฮเดรต 76.09 กรัม (เมล็ดข้าวอายุ 6 เดือน วิเคราะห์ข้อมูลโดยศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี กรมการข้าว)
ข้อมูลอ้างอิง
Wikipedia
MGR Online
วิธีนึ่งข้าวเหนียวกล้อง (สูตร สุข ศานติ ฟาร์ม)
แช่ข้าวเหนียวกล้อง 15 ชั่วโมง (เช่นแช่บ่ายสองโมงไปนึ่งตีห้าอีกวัน) มีสองวิธี
วิธีที่ 1) นึ่งในหม้อหุงข้าวที่มีโปรแกรม พี่ตั้งโปรแกรมข้าวธัญพืช ใช้เวลาหนึ่งชั่วโมง(ข้าวจะยังไม่สุก จะเป็นเม็ดร่วนๆ) แล้วเอาไปนึ่งกับเตาแก้ส ใช้หวดนึ่งข้าวแบบคนอืสาน ตั้งเวลาครึ่งชั่วโมง(ให้น้ำเดือดก่อนค่อยยกตั้งนะจ้ะ) พอมีไอออก ยกหวดพลิกข้าวจากข้างล่างขึ้นมาไว้ข้างบน ทำสองครั้งจนสุก
วิธีที่ 2) นึ่งกับเตาแก้ส ล้างข้าวให้สะอาดตักใส่หวดนึ่งหนึ่งชั่วโมง พลิกข้าวสี่ครั้งเจ้า
ระหว่างที่รอข้าวสุก ขูดมะพร้าวทึนทึกแล้วนึ่ง 15-20 นาที ยกลงรอให้เย็น คลุกมะพร้าวกับเกลือและน้ำตาลตามชอบ
วิธีเก็บข้าวที่ทานไม่หมด ให้คลุกข้าวกับมะพร้าว ฯลฯ ในปริมาณที่ทานหมด ที่เหลือ เก็บใส่ถุงร้อนในปริมาณที่จะทานในแต่ละครั้ง เก็บที่เหลือทั้งหมดใส่กล่องเก็บไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดา มะพร้าวที่เหลือก็เก็บในลักษณะเดียวกันค่ะ
เมื่อต้องการจะทานครั้งต่อไป เอาข้าว + มะพร้าว อุ่นในไมโครเวฟ 2 นาที เสริฟได้เลย
นึ่งทีละหนึ่งกิโล เก็บไว้กินได้นาน กินเป็นข้าวกับกับข้าวก็สุดอร่อย