เกิดแต่ตม

สล่าเมืองเชียงราย ปรีชา ราชวงศ์ ไม่ได้เปรียบผลงานภาพเขียนชุด เกิดแต่ตม ของเขาว่าเป็นเฉกเช่น บัวเหล่าที่ 4 ของพระพุทธเจ้า ที่พระองค์เปรียบถึงผู้ที่โง่เขลา เป็นเหมือนบัวที่อยู่ในโคลนตม ยากที่จะสอนให้เข้าใจได้ ไม่มีโอกาสโผล่เหนือน้ำ

ทว่าเขาเปรียบถึงสามัญชนธรรมดาที่แม้ไม่ อยู่ในตระกูลที่สูงศักดิ์ แต่ก็สามารถสร้างสิ่งดีงามให้เกิดขึ้นในสังคมได้ เรื่องราวของตำรวจชั้นผู้น้อยนายหนึ่ง และลุงชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่ง ผู้มุ่งมั่นปลูกต้นไม้ มานับกว่าสิบปี ที่เรื่องราวเคยถูกนำเสนอตามสื่อ ต่างๆ เพราะผลจากการกระทำก่อให้เกิดอานิสงส์แก่คนรอบข้าง เป็นแรงบันดาลใจให้ปรีชาคิดเขียนผลงานชุดนี้ขึ้น
ซึ่งนอกจากเขาจะสื่อสารกับคนดูว่าคนทุกคนสามารถทำความดีได้ เขายังปรารถนาที่จะเห็นคนทุกคนเกิดความเชื่อมั่น และศรัทธาในการทำ ความดีต่อไปอย่างไม่ลดละ โดยนิสัยส่วนตัวแล้ว ปรีชาบอกว่า เขาเป็นคนชอบปลูกต้นไม้ ดอกไม้ และชอบที่จะเรียนรู้จากธรรมชาติ

ดอกบัว เป็นดอกไม้ที่เขาเห็นว่าเป็นสัญลักษณ์ สื่อถึงความเป็นไทยและศาสนาพุทธ เขาจึงเลือกเขียนดอกไม้ชนิดนี้ เพื่อให้เป็นตัวแทนความคิดของเขาที่จะสื่อสารถึงคนดู

เคยมีคำกล่าวว่า มนุษย์แม้จะเกิดในสิ่งแวดล้อมที่เลวทราม และข้นแค้นเพียงไร ก็ยังมีโอกาสที่จะเป็นคนดีได้ หากผู้นั้นมีความเพียรพยายามที่จะทำความดี การเป็นคนดีของเขาจึงเปรียบเหมือนดั่งดอกบัวที่กำเนิดและเติบโตจาก โคลนตม พยายามที่จะโผล่ขึ้นเบ่งบานเหนือน้ำ

ก่อนลงมือเขียนภาพและใช้ความชำนิชำนาญด้านงานจิตรกรรมไทยที่มีอยู่ เขาเปิดดูภาพถ่ายดอกบัว จากหนังสือต่างๆ และพาตัวเองไปสังเกตธรรมชาติของดอกบัว ตามบึงบัวและทุ่งนา

ผมไม่อยากเขียนดอกบัวให้ดูเหมือนจริงมาก ขณะเดียวกันไม่อยากให้มันมีรูปแบบที่เป็นงานจิตรกรรมไทยมากนัก อยากให้มันดูร่วมสมัย

ผลงานศิลปะชุดก่อนหน้านี้ของปรีชา มีชื่อชุดว่า ‘ข้าวกล้าแห่งความหวัง’ งานชุดนั้นเขาเปรียบข้าวกล้าให้เป็นคนดีทุกคนในสังคมที่ล้วนแต่คือ ความหวังของโลก ขณะที่ผลงานชุด “เกิดแต่ตม” คือชนชั้นผู้น้อยคนจนๆ ที่มุ่งมั่นต่อการทำความดีโดยไม่หวังผลตอบแทน ในฐานะคนทำงานศิลปะ ปรีชากล่าวว่าสิ่งที่ตนมีความสามารถพอที่จะทำได้ก็คือ การเขียนภาพและพยายามถ่ายทอดเรื่องราวดีๆผ่านผลงานให้คนดูมีกำลังใจและดำเนินชีวิตต่อไปอย่างมีความสุข นอกเหนือไปจากนั้นก็คือการทำความดี ตามวาระโอกาส ตามความสามารถที่พอจะทำได้

อย่างเช่นเวลาหน้าหนาว ถ้าเราไม่มีเงินมากเราก็ชวนหมู่พวกของเราเอาเสื้อผ้าเก่าๆ ไปให้เด็กๆชาวเขาและชาวบ้านบนดอย แค่เห็นเด็กยิ้ม เราก็มีความสุขแล้ว แม้มันจะไม่ใช่ความดีที่ยิ่งใหญ่ที่จะเปลี่ยนแปลงโลกได้ แต่มันก็ถือเป็นส่วนหนึ่งที่เราพอจะช่วยสังคมได้

ก่อนหน้านั้นเขาเคยรู้สึกหงุดหงิดใจอยู่เหมือนกันว่า เหตุใดคนทำดีจึงไม่ค่อยได้ดี ไม่ได้รับผลตอบแทนในสิ่งที่ทำ เวลานี้มุมคิดเขาเปลี่ยนแปลงไป แท้จริงแล้วผลตอบแทนของการทำดี เกิดขึ้นตั้งแต่ที่คิดจะลงมือทำ เกิดขึ้นที่ใจ …ใจที่รู้สึกได้ถึงความอุ่นๆ เย็นๆ และเป็นสุข

ข้อเขียนจากหนังสือพิมพ์ธรรมลีลา ฉบับที่ 79 มิ.ย.50 โดยฮักก้า