ขยะประเทศไทยจะหมดไป ด้วยกลไกตลาดทุน

เรื่อง วรธาร ทัดแก้ว

ขยะในประเทศไทยมีปริมาณมหาศาล ทั้งขยะเก่าที่สะสมมานาน และขยะใหม่ที่เกิดขึ้นทุกวัน รัฐบาลแต่ละยุคสมัยต่างให้ความสำคัญและแก้ปัญหามาตลอด แต่ไม่ว่าจะผ่านมากี่รัฐบาลปัญหาขยะก็ยังยืนหยัดรอการแก้ไขต่อไป โดยไม่รู้ว่าเมื่อไรขยะจะหมดไปจากประเทศไทย ซึ่งคนไทยคงรอที่จะได้เห็นวันนั้นมาถึง

สาเหตุที่ขยะยังไม่หมดไปจากประเทศ เพราะประเทศไทยจัดการขยะได้น้อยนิด ในขณะที่ปริมาณขยะในแต่ละปีมีมหาศาล อย่างปี 2560 พบว่าปริมาณขยะทั่วประเทศอยู่ที่ 27.37 ล้านตัน หรือประมาณ 74,998 ตัน/วัน โดยคนไทยมีส่วนสร้างขยะวันละ 1.13 กิโลกรัม/คน/วัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของชุมชนเมืองและสังคมบริโภคนิยม

ด้วยเหตุนี้ การแก้ปัญหาจึงไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้รัฐบาลปัจจุบันต้องยกขึ้นเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนตลอดคนไทยทุกคนต้องช่วยกัน

ขยะ…ปัญหาหมักหมมของชาติ

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวในงานสัมมนาวิชาการ “20 ปี ปัญหาขยะประเทศไทยหมดไปด้วยกลไกตลาดทุน” ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมนักศึกษาสถาบันวิทยาการตลาดทุน และสถาบันวิทยาการตลาดทุน โดยคณะนักศึกษาหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน รุ่นที่ 27 (วตท.27) ร่วมกันจัดขึ้นที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่ผ่านมา ว่า ขยะในประเทศเป็นปัญหาที่หมักหมมมานาน ซึ่งเกิดขึ้นทั้งจากภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม ปีหนึ่งจะมีปริมาณ 27.4 ล้านตัน ถ้าเปรียบเทียบกับตึกใบหยก 2 จะได้ 142 ตึก และเราจัดการขยะได้เพียงนิดเดียวเท่านั้น

ถ้าย้อนไปปี 2554 ปีน้ำท่วมใหญ่ขยะมหาศาลไหลลงสู่ทะเล ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อประเทศไทยถูกจัดอันดับ 1 ใน 6 ของประเทศที่มีขยะในทะเลมากที่สุด โดย 80% ของขยะทะเลมาจากบก และ 50% เป็นขยะพลาสติก ซึ่งขยะพลาสติกนี้ใช้เวลาย่อยสลาย 500 ปี ย่อยแล้วไม่ได้ไปไหน กลายเป็นไมโครพลาสติกที่เวลาอยู่ในน้ำคล้ายกับแพลงตอน แล้วสัตว์ทะเล เช่น ปลาไปกินแล้วคนไปกินสัตว์ เวลาขับถ่ายก็จะมีไมโครพลาสติกออกมา

นี่คือสิ่งที่ต้องระวังและผลกระทบนี้เกิดขึ้นในประเทศไทยมาแล้วหลายกรณี เช่น กรณีของวาฬที่กินพลาสติกแล้วตายที่เป็นข่าวมาไม่นาน ดังนั้น ปัญหาขยะจึงสะท้อนให้เห็นถึงการบริหารจัดการที่ไม่ถูกต้องและยังไม่เกิดประสิทธิภาพ แม้ว่าเราจะมีสถานที่กำจัดขยะประมาณ 2,800 กว่ากอง แต่ก็มีการจัดการที่ไม่ถูกต้องมากถึง 400 กว่ากอง นี่จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ขยะมีปริมาณสะสมขึ้นเรื่อยๆ” ดร.วิจารย์ กล่าว

สำหรับอุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถกำจัดขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนหนึ่งมาจากค่ากำจัดขยะที่ประชาชนจ่ายนั้นไม่ได้สะท้อนถึงต้นทุนในการกำจัดขยะ ผู้ทิ้งขยะไม่ได้เป็นผู้รับภาระจากขยะที่สร้างขึ้นอย่างแท้จริง ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ขาดแคลนงบประมาณในการกำจัดขยะเกิดปัญหาขยะตกค้าง การทิ้งขยะข้ามเขต งบของ อปท.จำนวนมากต้องสูญไปกับการกำจัดขยะ

แทนที่จะนำไปพัฒนาสาธารณูปโภคหรือคุณภาพชีวิตของประชาชน นอกจากนี้ การจัดหาเงินทุนในโครงการเกี่ยวกับการกำจัดขยะส่วนใหญ่ต้องใช้เงินลงทุนสูง และต้องอาศัยความร่วมมือจากชุมชนในพื้นที่จึงจะประสบความสำเร็จได้ ดังเช่น การสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา

พ.ร.บ.รักษาความสะอาด 60 กลไกแก้ขยะ

ทวี จงควินิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยาม พาวเวอร์ กล่าวว่า ตั้งแต่รัฐบาล คสช.เข้ามาบริหารประเทศเมื่อปี 2557 ได้ประกาศให้การแก้ไขปัญหาขยะเป็นวาระแห่งชาติ มีการวางมาตรการเร่งด่วน 6 เดือน ระยะกลาง 6 เดือน และระยะยาว 1 ปีขึ้นไป มอบให้ทางกระทรวงมหาดไทยเข้ามาดูแลและออกพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ได้นำนโยบายไปปฏิบัติการ โดยจัดแผนปฏิบัติการหลายรูปแบบ เช่น ประเทศไทยไร้ขยะตามแนวประชารัฐ แผนปฏิบัติการขยะสะอาด โดยกระตุ้นให้เกิดการทำ 3 อาร์ คือ Reduce (ใช้น้อย) Reuse (ใช้ซ้ำ) และ Recycle (นำกลับมาใช้ใหม่) มากขึ้น

จากการรวบรวมตัวเลขขยะตลอดระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ปี 2551-2561 ปริมาณขยะมีการเพิ่มขึ้นจาก 23 ล้านตัน เป็น 27 ล้านตัน แต่ตัวเลขที่น่าสนใจคือ ขยะซึ่งไม่ได้รับการกำจัดอย่างถูกต้องในปี 2551 มีปริมาณ 14 ล้านตัน แต่พอปี 2561 ลดลงเหลือ 7.71 ล้านตัน นั่นคือจากมาตรการต่างๆ ที่ สถ.นำไปปฏิบัติแล้วได้ผลดีเป็นที่พอใจ ส่วนปี 2560 มีขยะที่เหลือที่ไม่ได้กำจัดอย่างถูกต้อง 7 ล้านตัน กระนั้นขยะอีก 43% 11.7 ล้านตันที่กำจัดอย่างถูกต้องนั้น 90% โดยวิธีการฝังกลบ มีแค่ 10% เท่านั้นที่ไปสู่โรงไฟฟ้าขยะซึ่งถือว่าน้อยมาก

ทวี กล่าวต่อว่า ดังนั้นหัวใจสำคัญคือ ต้องรณรงค์อย่างจริงจัง และทุกภาคส่วนต้องให้ความร่วมมือในการคัดแยกขยะจากต้นทางด้วยการทำ 3 R (Reduce-Reuse-Recycle) โดยขยะที่เป็นอินทรีย์นำไปหมักทำปุ๋ยสำหรับปรับปรุงดิน ขยะที่เหลือนำไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าต่อไป

เดิมขยะเราไม่ค่อยแยกจะทิ้งรวมไปหมดอยู่ในถังเดียว เมื่อไปโรงไฟฟ้าก็ต้องคัดแยกก่อนซึ่งต้นทุนมหาศาลกว่าจะได้เชื้อเพลิงมาผลิตไฟฟ้า แต่ถ้าคัดแยกขยะจากต้นทางอย่างถูกต้องเราก็จะได้ขยะรีไซเคิลนำกลับไปขายต่อ เอาขยะที่เป็นอินทรีย์ไปทำปุ๋ย ส่วนที่เหลือก็นำเข้าโรงไฟฟ้าเผาตรงได้เลย ซึ่งในญี่ปุ่น ไต้หวัน ประชาชนเขามีระเบียบวินัยมากในการคัดแยกขยะ ทำให้ลดต้นทุนได้เยอะ ประเทศไทยเราต้องทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง

โรงไฟฟ้าขยะคือคำตอบ

คณพศ นิจสิริภัช ประธานนักศึกษาวิทยาลัยตลาดทุน รุ่นที่ 27 และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท อีสเทิร์น เอเนอร์จี้ พลัส กล่าวว่า การฝังกลบขยะไม่ถือว่าเป็นการแก้ไขปัญหาขยะที่ได้ผล เพราะถ้าขยะไม่ได้ผ่านการคัดแยกมีพลาสติกการฝังกลบก็ไม่ทำให้เกิดการย่อยสลาย ดังนั้น วิธีกำจัดขยะโดยนำเป็นเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้าจึงเป็นแนวทางที่ถูกต้อง เพราะโรงไฟฟ้ามีการควบคุมมลพิษก่อนปล่อยสู่อากาศ ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วจะมีโรงไฟฟ้าขยะตั้งอยู่ในตัวเมืองเพื่อประหยัดค่าขนส่ง

วิธีการกำจัดปัญหาขยะที่ได้ผลที่สุดคือการเผาครับ แต่ต้องเผาในโรงไฟฟ้า เพราะโรงไฟฟ้ามีมาตรฐานการจัดการเรื่องมลพิษทางอากาศก่อนแล้วจึงปล่อยอากาศดีสู่อากาศ ขี้เถ้าก็จะถูกบำบัดเป็นซีโร่เวสต์โดยแท้จริง ขณะเดียวกันเราสามารถเอาพลังงานที่เกิดจากการเผาพลังงานความร้อนมาผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อมาชดเชยค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการเผาและการดำเนินการ ซึ่งประเทศที่เจริญแล้วอย่างญี่ปุ่น เยอรมนี โรงไฟฟ้าเขาอยู่กลางเมืองเลย

ว่าแต่การสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อแก้ปัญหาขยะนั้นต้องใช้งบประมาณมหาศาล ดังนั้นจำเป็นต้องใช้กลไกตลาดทุนเข้ามาช่วยเสริม ศ.ดร.อาณัติ ลีมัคเดช ภาควิชาการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การระดมทุนนั้นสำคัญ กลไกตลาดทุนจะเป็นอีกส่วนสำคัญในการช่วยบริหารจัดการเรื่องงบประมาณและการระดมทุน อยากให้มีการแข่งขันในการดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าจากขยะอย่างเสรี ลดการผูกขาด เพื่อให้เอกชนมีการแข่งขันในการคัดแยกขยะ เพื่อลดต้นทุนการผลิต ก็จะช่วยให้มีการจัดการขยะในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

ที่ผ่านมามีการผลักดันให้นำขยะมาเป็นพลังงานไฟฟ้า แล้ว กพช.มีการอนุมัติแผนผลิตฟ้าใหม่ปี 2561-2580 รับนโยบายกำจัดขยะ เปิดโควตารับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนเพิ่มจาก 500 เพิ่มอีก 400 เมกะวัตต์ เป็น 900 เมกะวัตต์ เพื่อให้มากพอที่จะกำจัดขยะได้ทั่วประเทศตามที่กระทรวงมหาดไทยได้มีการศึกษาร่วมกับกระทรวงพลังงาน ซึ่งในการเพิ่มขึ้นหากพูดถึงเงินลงทุนประเมินคร่าวๆ อยู่ที่ 6-7 หมื่นล้านบาท แน่นอนคนที่มีเงินขนาดนี้มีอยู่ไม่กี่กลุ่ม

ฉะนั้น เรื่องการนำกลไกทางตลาดทุนเข้ามาใช้ จึงไม่ใช่แค่การประหยัดจากภาคเงินทุนเพื่อที่จะสร้างโรงไฟฟ้ากำจัดขยะ แต่เป็นเรื่องของการเพิ่มอำนาจในการแข่งขันที่จะทำให้ผลตอบแทนกระจายเข้าสู่ทุกคนด้วย”

เครดิตที่มาเนื้อหา: เว็บโพสต์ทูเดย์